ภาควิชาการตลาด
คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

คณะวิทยาการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ








ชื่อหลักสูตรภาษาไทย
        บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด

ชื่อหลักสูตรภาษาอังกฤษ
        Bachelor Of Business Administration Program in Marketing

ชื่อปริญญา
        ชื่อเต็มภาษาไทย : บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด
        ชื่อย่อภาษาไทย : บธ.บ.(การตลาด)
        ชื่อเต็มภาษาอังกฤษ : Bachelor Of Business Administration Program in Marketing
        ชื่อย่อภาษาอังกฤษ : B.B.A. (Marketing)

ประวัติความเป็นมาโดยย่อ
        คณะวิชาวิทยาการจัดการ ได้จัดตั้งขึ้นตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2518 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2527 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการแบ่งส่วนราชการในวิทยาลัยครูเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2530 และสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 104 ตอนที่ 73 ลงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2530 และได้ดำเนินงานให้บริการการศึกษาเรื่อยมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2538 คณะวิชาวิทยาการจัดการได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะวิทยาการจัดการ” ตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538
        ด้านการจัดการเรียนการสอนของคณะวิทยาการจัดการ เมื่อปี พ.ศ. 2525 วิทยาลัยครูเชียงใหม่ (ในขณะนั้น) ได้จัดตั้งโปรแกรมวิชาเอกสหกรณ์ เพื่อดำเนินการสอนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง วิชาเอกสหกรณ์ ให้แก่นักศึกษาภาคปกติ และปริญญาครุศาสตร์บัณฑิต วิชาเอกสหกรณ์ สองปีหลังอนุปริญญาในโครงการอบรมครูประจำการ พ.ศ. 2527 โดยแต่งตั้งอาจารย์จากคณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์และคณะวิชาวิทยาศาสตร์ รวม 5 คน เป็นอาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาเอกสหกรณ์ และมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานของคณะตามข้อกำหนดของมหาวิทยาลัย เริ่มโครงการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) โดยเปิด การเรียนการสอนเฉพาะ ภาคเสาร์-อาทิตย์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2529 และเริ่มเปิดการเรียนการสอนภาค กศ.บป. จันทร์-ศุกร์ ในปีการศึกษา 2538
        เดิมสาขาการตลาด คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ก่อตั้งขึ้นด้วยนโยบายของกรมการฝึกหัดครู (สมัยนั้น) ที่จะให้วิทยาลัยครูทั่วประเทศได้ผลิตบัณฑิตสาขาอื่น ๆ (นอกเหนือจากครุศาสตร์บัณฑิต) อีกทั้งเป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่มีความหลากหลาย มีความเป็นสากลการแข่งขันและลงทุนอย่างเสรี ส่งผลให้มีการพัฒนาด้านการคมนาคมเพื่อติดต่อค้าขาย การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านสื่อที่มีความทันสมัยมากขึ้น ทำให้ธุรกิจการค้าการพาณิชย์ต่าง ๆ เกิดและเติบโตขึ้นในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการตลาด
        กรมการฝึกหัดครู (เดิม) จึงร่วมมือกับวิทยาลัยครูต่าง ๆ จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการบริหารธุรกิจ (การตลาด) ระดับปริญญาตรีขึ้น เพื่อผลิตศิลปะศาสตร์บัณฑิตเอกบริหารธุรกิจ (การตลาด) รวมทั้งเปิดสอนในระดับอนุปริญญาสาขาบริหารธุรกิจ (การตลาด) เพื่อเร่งผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพสู่ตลาดแรงงานด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาดของประเทศไทย จวบจนปัจจุบันได้มีการพัฒนาหลักสูตรบริหารธุรกิจ ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการตลาดขึ้นใหม่
        ปี 2542 คณะวิทยาการจัดการ ได้ปรับปรุงการบริหารจัดการให้เหมาะสมโดยยกเลิก ภาควิชา และใช้วิธีการบริหารจัดการแบบโปรแกรมวิชา โดยมีโปรแกรมวิชาการจัดการ โปรแกรมวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ โปรแกรมวิชาการตลาด โปรแกรมวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ โปรแกรมวิชาการบัญชี โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ และโปรแกรมวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ และในปี 2549 คณะวิทยาการจัดการได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการ โดยยกเลิกโปรแกรมวิชา และใช้วิธีการบริหารจัดการแบบสาขาวิชา
        การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการตลาด คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพสู่แรงงานด้านบริหารธุรกิจ จวบจนกระทั่งในปัจจุบันได้พัฒนาบัณฑิตที่จบจากสาขาวิชาการตลาด เพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวของสังคมต่อไป

ปรัชญา
        องค์ความรู้ทันสมัย ใส่ใจคุณธรรม

ปณิธาน
        สาขาวิชาการตลาด มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ มีใจรักในงานด้านการตลาด มีคุณธรรม จริยธรรม และมีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพการตลาด ตลอดจนให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและสามารถนำเอาการวิจัยการตลาดไปช่วยสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ ใหม่ ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นและสังคม

เป้าหมาย
        สาขาวิชาการตลาด มีนโยบายส่งเสริมให้มีการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และมีคุณลักษณะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานพร้อมรองรับการเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน สามารถเป็นผู้นำด้านธุรกิจการตลาดในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเผยแพร่การบริการด้านวิชาการ และการทำวิจัยอย่างกว้างขวาง

วัตถุประสงค์
        1.เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถและเจตคติที่ดีต่ออาชีพด้านการตลาดพร้อมรองรับการเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน
        2.เพื่อผลิตบัณฑิตให้สามารถดำเนินการประกอบอาชีพด้านการตลาดโดยประยุกต์ใช้ความรู้ทางการตลาดได้
        3.เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีเจตคติที่ดี มีจรรยาบรรณ ตระหนักถึงความสำคัญการตลาดที่มีผลต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ สังคม สภาพแวดล้อม และจรรโลงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่ดีของประเทศ
        4.เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีปฏิภาณไหวพริบ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถดำรงตนเป็นพลเมืองที่ดีของชุมชน สังคม และประเทศชาติได้

คุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์
        สาขาวิชาการตลาดมุ่งผลิตบัณฑิตให้มีคุณลักษณะ ความรู้ ความสามารถ และมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนี้
        1.เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ และมีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพการตลาด
        2.เพื่อผลิตบัณฑิตที่สามารถประกอบอาชีพอิสระ หรืออาชีพทางธุรกิจ
        3.เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีจรรยาบรรณ ตระหนักถึงความสำคัญของการตลาดที่มีผลต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ สังคม สภาพแวดล้อม และจรรโลงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่ดีของประเทศชาติและท้องถิ่น
        4.เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีปฏิภาณไหวพริบ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และสามารถดำรงตนเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
        -นักการตลาด
        -นักขาย
        -นักโฆษณาและนักประชาสัมพันธ์
        -นักวิจัยและนักพัฒนาผลิตภัณฑ์
        -เจ้าหน้าที่/ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
        -เจ้าหน้าที่/ผู้จัดการฝ่ายจัดงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
        -เจ้าหน้าที่/ผู้จัดการฝ่ายจัดการตลาดเชิงกิจกรรม
        -เจ้าหน้าที่/ผู้จัดการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์
        -ประกอบธุรกิจส่วนตัว
        -อาจารย์สอนทางด้านการตลาด