คณะวิทยาการจัดการ มหวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ศูนย์ให้คำปรึกษาปรึกษาชีวิตนักศึกษา(Student help and Support Center)

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

  • คณะวิทยาการจัดการ มหวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปรึกษาปัญหาชีวิตออนไลน์

Student Help and Support Center Online

เข้ารับปรึกษา

วัยรุ่นทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองให้ประสบความสำเร็จได้

ปรึกษาปัญหาชีวิตออนไลน์

“วัยรุ่นทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองให้ประสบความสำเร็จได้

 

ถ้าได้รับแรงบันดาลใจ และคำแนะนำที่เหมาะสม” -หมอจริง

 

ยอดคนกดติดตามทะลุกว่า 40,000 ไลค์ไปแล้ว สำหรับเพจ “หมอจริง เข้าใจวัยรุ่น Dr Jing” ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะบทความและเนื้อหาที่เจ้าของเพจนำเสนอนั้น มากกว่าการรับมือกับภาวะอารมณ์และฮอร์โมนของวัยอันว้าวุ่นแล้ว ยังเข้าอกเข้าใจความเป็นวัยนี้ได้อย่างดี

 

 

“ชญานิน ฟุ้งสถาพร” หรือ “จริง” ที่แฟนเพจเรียกติดปากว่า “หมอจริง” นั้น เป็นหญิงสาวที่สดใสตั้งแต่หน้าตาไปจนถึงรอยยิ้ม เกิดเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2532 ในครอบครัวแพทย์ พ่อ-วีรภัทร ฟุ้งสถาพร เองก็เป็นหมอที่มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ชญานินอยากดำเนินรอยตามเส้นทางเดียวกัน ขณะที่แม่-ณัฎฐา ฟุ้งสถาพร เองก็เป็นทันตแพทย์ที่เข้าอกเข้าใจลูกตั้งแต่สมัยที่ชญานินยังเป็นวัยรุ่น

 

เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม และมาต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ก่อนจะเป็นนิสิตที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ปัจจุบันทำงานอยู่ที่สถาบันธัญญารักษ์ และกำลังตั้งใจรอเรียนต่อเฉพาะทางในสาขาจิตแพทย์เด็ก

 

“ตอนเราวัยรุ่นก็เป็นวัยรุ่นทั่วไป ก็จะมีแบบรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเรา ถ้าเราเป็นลูกจะไม่เลี้ยงแบบนี้ ทุกคนคงเป็นเหมือนกัน” เธอยิ้มเมื่อเล่าเรื่องชีวิตสมัยวัยรุ่น (ที่คล้ายว่าเพิ่งผ่านไปไม่นานนัก) ให้ฟัง “แต่ว่าทีนี้มีน้องสาวคนเล็กที่ห่างกัน 10 ปีได้”

 

“เราอยู่ในหมวกของพี่สาวด้วย หมวกของผู้ปกครองด้วย เหมือนบางทีเรารู้สึกว่าพฤติกรรมนี้มันไม่ดีนะ ก็จะมีเตือนๆ กัน พอเรามาอยู่ในหมวกของผู้ปกครอง เราก็จะรู้แล้วว่า สิ่งที่เราเคยคิดตอนเป็นวัยรุ่น พอเรามาเป็นคนเลี้ยงเองมันยากนะ ทำให้เราเข้าใจทั้งสองฝ่าย ทั้งที่เป็นวัยรุ่นและที่เป็นคนเลี้ยงด้วย”

 

การมาเป็นแพทย์ใช้ทุนที่สถาบันธัญญารักษ์ ทำให้ชญานินมีโอกาสได้เจอกับเด็กวัยรุ่นที่อายุตั้งแต่ 12-18 ปี อันเป็นวัยที่เริ่มมีความคิดความอ่านเป็นของตัวเองอย่างแจ่มชัด และอีกเช่นกัน ที่วัยนี้ยังต้องการคำปรึกษาเพื่อก้าวเดินต่อไปในทางที่ต้องการ ทั้งการค้นหาตัวเอง และการใช้ชีวิต

 

นั่นจึงเป็นต้นกำเนิดเพจ “หมอจริง เข้าใจวัยรุ่น Dr Jing” ขึ้นมา

 

ชีวิตตอนเด็กถึงวัยรุ่นเป็นยังไง

 

เกิดที่เชียงรายค่ะ ตอนเด็กๆ อยู่กับน้ำตก ปีนต้นไม้ คุณพ่อจะให้เวลาค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ถึงแม้ว่าเขาจะมีงานแต่ก็จะจัดสรรเวลาเลี้ยงลูกให้ทั้ง 2 คนได้ดี

 

ท่านจะปลูกฝังหลายอย่างตั้งแต่เด็กๆ เลย คุณแม่บอกว่าพอคุณแม่รู้ว่าท้องเรา คุณแม่ก็อ่านหนังสือนิทานให้ฟังเลย แล้วเราก็จะคลุกคลีกับหนังสือและทีวี ดูสารคดี ดูหนังกับคุณพ่อ เหมือนเราจะโตมาด้วยกัน พ่อจะพูดให้คิดตลอด ประมาณว่าคิดว่าเหตุการณ์นี้คืออะไร มีผลตามมาอย่างไร

 

พอเป็นวัยรุ่น เราเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง ท่านก็ไม่ได้ห้าม คือจะเรียกว่าปล่อยก็ปล่อย จะเรียกว่าปิดก็ปิดนะคะ อย่างบางเรื่องก็จะปิดเลย หรือบางเรื่องก็ปล่อย เช่น ไปเที่ยวกับเพื่อน ให้ไปได้เลย

 

ท่านจะชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสียของการกระทำมากกว่าที่จะห้ามเราไม่ให้ทำ เพราะวัยรุ่น ยิ่งห้ามยิ่งยุ

 

อยากเป็นหมอตั้งแต่เมื่อไหร่

 

ตั้งแต่ประถมปีที่ 4 เลย คือคุณพ่อเป็นหมอ เราเห็นคนไข้หน้าตาอิดโรยก่อนเดินเข้าห้องไปเจอพ่อ แต่เดินออกมาเขาดูมีความสุขมากขึ้น เราเลยรู้สึกอยากเป็นคนนั้นที่ทำให้คนไข้มีความสุข ก็เลยอยากเป็นหมอตั้งแต่เด็ก แล้วอยากเป็นจิตแพทย์ตอนมัธยมปีที่ 2 เพราะ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ เขาเขียนพ็อคเก็ตบุ๊กเรื่องเล่าในศรีธัญญา เล่าว่าดูแลคนไข้อย่างไร คนไข้หายแล้วเป็นอย่างไร แล้วการที่หมอคนหนึ่งจะรักษาคนไข้ที่พูดไม่รู้เรื่อง ให้กลับมาเป็นคนทำงานได้ตามปกติ เป็นพ่อคนได้ตามปกติ เราว่ามันมหัศจรรย์มากเลย เลยบอกพ่อแม่ว่าอยากทำงานแบบนี้ (ยิ้ม)

 

อะไรที่ทำให้วัยรุ่นถูกมองว่ามีปัญหามากที่สุด

 

วัยรุ่นที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาเพราะเขาเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง อยากทำอะไรด้วยตัวเอง แล้วเขาก็อยากได้รับการยอมรับ ค้นหาตัวเอง

 

ทางร่างกาย แม้ตัวเขาจะโตแล้ว แต่สมองส่วนที่ตัดสินใจโดยใช้อารมณ์มันยังมีมากกว่าเหตุผล เพราะฉะนั้น บางทีเขาก็อยากเป็นตัวของตัวเอง อยากตัดสินใจเองแล้วเขาจะไม่ฟังอะไรแล้ว แต่ว่าเขาเอาอารมณ์มาก่อน เคยมีการทดลองที่เอาวัยรุ่นมาตัดสินใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งกับผู้ใหญ่ที่มาตัดสินใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาพบว่า วัยรุ่นสมองในส่วนที่ควบคุมด้วยอารมณ์จะทำงานเยอะกว่า แต่ผู้ใหญ่สมองที่ควบคุมด้วยเหตุผลจะทำงานเยอะกว่า

 

จริงๆ แล้ววัยรุ่นเป็นวัยที่คุยยากที่สุดหรือเปล่า

 

คิดว่าแล้วแต่คนค่ะ คิดว่าวัยรุ่นจะมีความคิดเป็นตัวของตัวเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าไปสั่งว่าหนูต้องเป็นแบบนั้น ต้องเป็นแบบนี้นะ เขาก็จะปิดแล้วจะไม่ฟังเลย คือเราเชื่อว่าคนทุกคนมีที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้จักเขา เราเข้าใจเขา รู้ว่าที่เขาทำแบบนี้เพราะอะไร มีสิ่งไหนช่วยเขาได้บ้าง มันจะเป็นประโยชน์มากกว่า คือจะเข้าหาเขาได้มากกว่าที่จะเข้าไปบอกให้เขาทำ

ทำไมสังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับวัยรุ่นน้อย

 

จริงๆ เรียกได้ว่าสังคมไทยเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นเนอะ คือมีหน่วยงาน องค์กรที่ดูแลตรงนี้อยู่ เช่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชครินทร์ มีการจัดอบรมการให้คำปรึกษาวัยรุ่น หรือภาควิชาจิตเวชเด็ก โรงพยาบาลศิริราช ที่จัดโครงการลดปัญหาการติดเกม คือมองว่าสังคมเราก็ยังให้ความสำคัญอยู่เพียงแต่ว่ากำลังออกมาในวงกว้างมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากซีรีส์ฮอร์โมน และสื่อต่างๆ ก็เริ่มออกมามากขึ้นค่ะ

 

ครอบครัวเป็นปัจจัยหลักไหมสำหรับการเติบโตของวัยรุ่น

 

คิดว่าหลักเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่หรือคุณตาคุณยายที่เลี้ยงมาก็ตาม มีส่วนสำคัญมากในการดูแลเด็ก จริงๆ เราพูดกับเด็กได้ตั้งแต่อยู่ในท้องเลยนะคะ การที่เราใส่อะไรเข้าไปเขาก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นแบบนั้น

 

การคุยด้วยเหตุผลเริ่มตั้งแต่เด็กๆ เลยก็ได้ จะเป็นการพูดคุย ถามไถ่ว่าลูกคิดยังไงกับเหตุการณ์นี้ ถ้าเป็นลูก จะแก้ปัญหาอย่างไร แก้วิธีนี้แล้วผลจะเป็นอย่างไร มีทางเลือกอื่นอีกไหม ก็จะช่วยทำให้วัยรุ่นคิดเป็น คิดวิเคราะห์ได้ด้วยตัวเองค่ะ

 

ปัญหาวัยรุ่นที่พบเยอะมาก

 

ตอนไปเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลทั่วไป เด็กอายุ 13-15 ท้องแล้วคลอดเยอะมาก เกินครึ่งเลย คิดว่ามันมีปัญหานะ แต่ว่าเราจะมองมันอย่างไร แล้วทางสังคมให้ความสำคัญและจะสอนวัยรุ่นอย่างไร อนาคตเราจะวางแผนกันอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราคิดว่าควรให้ความสำคัญ

 

เคสไหนที่ประทับใจมากๆ

 

หลายเคสนะคะ ถ้าในกลุ่มวัยรุ่น (คิด) คือวัยรุ่นทุกคนเขาจะไม่คิดว่าตัวเองมีปัญหาอยู่แล้ว แต่คุณพ่อคุณแม่จะเห็นว่ามี เลยพามาหาเรา ตอนแรกๆ น้องไม่เปิดใจเลย ก็ต้องแยกคุยเพราะถ้าอยู่กับพ่อแม่เขาจะไม่พูด จนเขาเริ่มฟังเรามากขึ้น เห็นว่ามันเกิดจากตรงนี้นะ มีสิ่งที่ต้องปรับ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องปรับ เพราะบางคนก็จี้ลูกมาก เราก็ต้องบอกว่า บางเรื่องปล่อยได้ก็ปล่อยไหม เช่น ลูกตื่นมาไม่เก็บที่นอน คือพ่อแม่ก็อยากให้ลูกห้องสะอาด แต่ถ้ามันไม่ได้กระทบผลการเรียนหรือแย่มากขนาดหนูวิ่งเต็มห้อง ก็ควรตกลงว่าอาทิตย์หนึ่งเก็บกี่ครั้ง ดีกว่าจี้ทุกวัน อารมณ์เสียกันตอนเช้าทั้งสองคนทุกวัน ปรับทั้งพ่อแม่และน้อง ซึ่งหลังจากนั้นก็ดีขึ้นเพราะเหมือนน้องยอมรับแม่มากขึ้น แม่ก็เปลี่ยนตัวเอง เห็นลูกดีขึ้นค่ะ

 

ต่างประเทศมีวิธีสอนและปฏิบัติกับวัยรุ่นอย่างไร

 

เราเคยไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนตอน ม.4 ที่อเมริกา 1 ปี แล้วก็เคยไปเป็นนักศึกษาแพทย์ดูงานที่ฝรั่งเศสอีก 1 เดือน

 

พูดถึงอเมริกาก่อน หลายๆ ครอบครัวเลย เขาค่อนข้างที่จะให้อิสระลูกมากในการเลือกและตัดสินใจในชีวิต คือพ่อกับแม่เขาจะไม่ได้บอกว่าลูกควรเป็นอะไร แต่ลูกอยากเป็นอะไรเขาจะสนับสนุน ตอนนั้นเรามีน้อง 3 คน คนแรกเป็นผู้ชายชอบเลี้ยงสัตว์ พ่อแม่ก็ซื้อวัวมาให้เลี้ยงจริงๆ โดยที่ลูกไปศึกษาว่ามันกินอะไร แล้วต่อมา เขาเอาวัวไปประกวดแล้วได้แชมป์ของรัฐ

 

ส่วนคนกลางเรียนเก่ง ชอบดนตรี ทุกๆ ปี ในวันเกิดหรือวันสำคัญ พ่อแม่จะซื้อเครื่องดนตรีชนิดใหม่ให้หนึ่งชิ้นจนเขาเล่นเป็นนับ 10 ชนิดเลยนะ ทั้งกีตาร์ อูคูเลเล่ กลอง

 

ส่วนคนเล็กชอบวาดรูปพ่อแม่ก็ซื้อโต๊ะสำหรับวาดรูปให้ทั้งที่เขาเพิ่งเรียนชั้นประถมเอง

 

ส่วนที่ฝรั่งเศส มีโฮสท์น้องที่เรียนอยู่ ม.ปลาย เขาจะเชื่อเรื่องการค้นหาตัวเองมากกว่าการรีบๆ เรียนรีบๆ ประกอบอาชีพ ซึ่งเราก็ไม่ได้บอกว่าอะไรดีหรือไม่ดี แต่ว่าเขาจะให้เวลากับตัวเองในการค้นหาว่าชอบอะไร แล้วค่อยเข้าไปทำอย่างจริงจัง โฮสท์คนน้องยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไรก็เลยเก็บเงิน บอกพ่อว่าพอจบมัธยมปลายจะขอ Gap Year 2 ปีนะ ไปเดินทางทั่วโลก ค้นหาว่าชอบอะไรแล้วจากนั้นจึงมาเรียนมหาวิทยาลัย

 

เราไม่ได้บอกให้ทุกคนไป Gap Year นะคะ แต่คิดว่าการค้นหาตัวเองนั้นสำคัญและตะวันตกให้ความสำคัญมานานแล้ว ถ้าเราเริ่มค้นหาตัวเองตั้งแต่เด็กๆ เชื่อว่าโตขึ้นมาจะต้องเจอแน่นอนค่ะ

 

เคยค้นหาตัวเองในทางอื่นๆไหม

 

เยอะมาก (ลากเสียง) คือช่วงมัธยมต้นเป็นช่วงที่ค้นหาตัวเอง พ่อแม่ก็ไม่ขัด เราโชคดีที่แม่บอกว่าอยากเรียนอะไรก็เรียนเลย ตอนนั้นก็ไปลงเรียนกราฟิกดีไซน์ เรียนโฟโต้ชอป, โปรแกรมอิลาสเตเตอร์, ออกแบบผลิตภัณฑ์ แล้วเรียนดนตรี ขิม ขลุ่ย จะเข้ ทำอาหารก็มี (หัวเราะ) ค้นหาตัวเองเยอะแต่รู้สึกว่าชอบอันนี้ที่สุดแล้วค่ะ

 

พอเพจมันได้รับการตอบรับที่ดี กลัวโพสต์อะไรไปแล้วคนไม่ชอบหรือกระทบใครไหม

 

อันดับแรก เราโชคดีที่เรามีรุ่นพี่หลายคนที่เขาคอยให้คำปรึกษาเรื่องนี้ เขาบอกว่าอะไรที่เป็น dilemma หรือสองแง่สองง่าม ไม่รู้ว่าถูกหรือผิดแล้วเราเลือกข้าง ไม่ควรโพสต์ เป็นสิ่งที่เราเตือนตัวเองว่าไม่ควรโพสต์ และถ้าอะไรที่มันเป็นความคิดเห็น ก็บอกว่ามันเป็นความคิดเห็นของเรานะ แต่ว่ามันอาจไม่ตรงกับบางคนก็ได้ ก็ลดแรงกระแทกลงได้ และอันดับสาม เราโพสต์โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สังคมมันดีขึ้น เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นการเสียดสี ดุด่าว่ากล่าว ประชดประชัน ก็ไม่โพสต์ ก็ไม่น่าจะมีคนที่มาขัดอะไรได้เยอะ

 

แต่ก็มีเหมือนกันค่ะ เช่น โพสต์ที่เล่าเรื่องประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากครอบครัวอเมริกัน ว่าเขาเลี้ยงดูแบบนี้นะ บางคนก็จะบอกว่า เลี้ยงแบบนี้แล้วยังไง ลูกไม่เห็นดูแลพ่อแม่เลย สุดท้ายก็ไปอยู่สังคมผู้ชรา คือเราไม่ได้บอกว่าเลี้ยงแบบนี้ดีแต่คิดว่า เราเอาส่วนดีๆ ของเขามาปรับใช้ให้เข้ากับสังคมเราได้ แล้วเราก็ไม่เถียง เพราะลูกของเขาก็ไม่ค่อยดูแลพ่อแม่เหมือนสังคมไทยจริงๆ แล้วเราเอาจุดดีของเราไปผสมกับเขาได้ไหมล่ะเพื่อให้ดีขึ้น

 

ปัญหาที่เจอมา อะไรเยอะสุด

 

(ยิ้ม) ขอยกสามอันดับแรกที่คนถามเยอะสุด อันดับแรกคือพ่อแม่ไม่เข้าใจ เยอะมาก ไม่ว่าจะเรื่องของการเรียน เราอยากเรียนอีกอย่างแต่พ่อแม่ให้เรียนอีกอย่าง อันดับสองคือเรื่องความรัก เช่น หนูมีแฟนแต่แม่ไม่อยากให้มี หรือบางคน อายุจะ 30 ปีแล้วแต่พ่อแม่ไม่ชอบผู้ชายคนนี้ อันดับสามคือการค้นหาตัวเอง บางคนยังไม่รู้ตัวเองชอบอะไร ทำอันนี้จะชอบไหม

 

ปัญหาใหญ่ในสามข้อ

 

ยากนะ (หัวเราะ) เรายกให้การค้นหาตัวเองเป็นอันดับแรก เพราะถ้าเราเข้าใจตัวเอง อย่างอื่นมันจะง่าย เราจะรู้วิธีจัดการคนอื่นได้ง่ายขึ้น อย่างพ่อแม่ ถ้าเรารู้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เราอยากทำไปตลอดชีวิตแต่พ่อแม่ไม่เข้าใจ อย่างเราเอง เราอยากเป็นจิตแพทย์ตั้งแต่มัธยมปีที่ 2 ตอนแรกแม่ก็ไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วยทั้งหมด บอกว่าเป็นจิตแพทย์เครียดจะตาย คือพอรู้ว่าเราอยากทำตรงนี้ ผู้ปกครองเขาก็จะมีมุมมองของเขาต่อสิ่งๆ หนึ่งในประสบการณ์ที่เขาเจอมา แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นจริงทุกด้านก็ได้ เพราะอย่างรุ่นพี่จิตแพทย์ เขาก็อารมณ์ดี ทำงานอย่างมีความสุขเพราะเขาชอบทางนี้ เลยคิดว่า จะต้องโน้มน้าวใจแม่ ไปซื้อหนังสือมาอ่าน เล่าเรื่องรุ่นพี่ให้แม่ฟัง ผ่านมา 8-9 ปีตั้งแต่วันที่เราอยากเป็นจิตแพทย์จนวันที่เราตัดสินใจเรียน แม่ก็เห็นว่า คงชอบจริงๆ เลยยอม

 

คือพอเราเข้าใจตัวเองได้ เราก็จะไปโน้มน้าวใจคนอื่นให้เขามาเข้าใจเราได้

 

เรื่องความรักเหมือนกัน ถ้าเรารู้ว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เหมือนเราไม่ชอบคนเจ้าชู้ เราก็จะไม่มีทางคบกับคนแบบนั้น ไม่เอาตัวเองไปเสี่ยง บางคนไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนกับเรื่องนี้ ใครมาก็คบ

 

ฉะนั้นก็เลยคิดว่าการเข้าใจตัวเองสำคัญที่สุด

 

ความท้าทายในงานนี้

 

(คิด) การเปลี่ยนแปลงคนให้ดีขึ้นค่ะ ตรงนี้ เป็นสิ่งที่อยากทำอยู่แล้วตั้งแต่แรกที่มาเรียน เราชอบเห็นความรู้สึกคนที่เดินออกไปแล้วดีขึ้นโดยเรา แต่จริงๆ ทำไม่ได้ทุกคน เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากแต่ต้องยอมรับ มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่เราเคารพมาก คือ ศ.พญ.อุมาพร ตรังคสมบัติ เป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเคยกล่าวว่า เราต้องยอมรับในความเป็นมนุษย์ของเรา และในความเป็นมนุษย์ของคนไข้ เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนทุกคนได้ คนที่อยากให้เราเปลี่ยน เราเปลี่ยนได้ แต่ถ้าคนที่ยังไงฉันก็ไม่เปลี่ยน เราต้องยอมรับและปล่อยไป

 

ตอนอยู่สถาบันธัญญารักษ์ใหม่ๆ ไฟแรงกล้ามาก คนไข้ต้องหายทุกคน แต่จริงๆ ไม่ใช่ บางคนเขาอาจยังไม่อยากเปลี่ยน หรือเปลี่ยนได้แค่นี้ เราก็จะลดความคาดหวังลงแล้วจะโอเคขึ้น

 

นั่นคือในความเป็นมนุษย์ของเรา คือเราเปลี่ยนใครไม่ได้ทุกคน และยอมรับในความเป็นมนุษย์ของเขาเช่นกันค่ะ (ยิ้ม)

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.matichon.co.th/news/12042








ศูนย์ให้คำปรึกษาปรึกษาชีวิตนักศึกษา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
202 ถ.โชตนา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
โทรศัพท์ 053-88505 FAX:053-885808 Contact : cmrumanagement@gmail.com

เว็ปไซต์ใช้งานได้ดีกับ Internet Explorer 9 ขึ้นไป หรือ Google Chrome / Firefox เวอร์ชั่นล่าสุด

พัฒนาและออบแบบโดย นายสิทธิพงษ์ นันตา คณะวิทยาการจัดการ